ReadyPlanet.com


ค่าเงินบาทวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว


  ค่าเงินบาทวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัว

 

ค่าเงินบาทไทยวันนี้ 19 เม.ย. 66 เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทไทยวันนี้ เปิดที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า โดยแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมทองคำ ทำให้โดยรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทมีลักษณะผันผวนในกรอบ Sideways ทว่าในวันนี้ประเมินว่า เงินบาทก็มีโอกาสเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง เนื่องจากความสนใจของผู้เล่นในตลาดจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของฝั่งยุโรปในช่วงบ่าย

โดยประเมินว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ของทั้งอังกฤษและยูโรโซน ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอลงมาบ้าง ก็อาจจะทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า ทั้ง BOE และ ECB อาจจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีกราว 1-2 ครั้ง ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ได้บ้าง และอาจช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน (ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์) ทั้งนี้ประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมาก เนื่องจากในช่วงนี้ก็ยังมีโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติก็ยังเป็นฝั่งขายสุทธิอยู่ ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทนั้น อาจติดอยู่แถวโซนแนวรับ 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงนี้คงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้มองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการและคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น รายงานผลประกอบการของ Goldman Sachs -1.7% ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง Johnson & Johnson -2.8% ที่แม้จะรายงานผลกำไรดีกว่าคาด แต่ทางบริษัทก็แสดงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาดเพียง +0.09% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอจับตารายงานผลประกอบการและรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.38% หนุนโดยการรีบาวด์ของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes +1.8%, Dior +0.7%) ที่ได้รับอานิสงส์จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนที่ออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน เพื่อปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้างตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่จะย่อตัวลงในจังหวะที่ผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ) แต่โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 101.7 จุด ซึ่งมองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งต้องจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงิน (เปิดรับความเสี่ยง หรือ ปิดรับความเสี่ยง) โดยจะขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่วนในฝั่งราคาทองคำ ความผันผวนของเงินดอลลาร์ก็ส่งผลกระทบให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) เคลื่อนไหวผันผวนเช่นกัน โดยมีจังหวะที่ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก่อนที่จะได้แรงซื้อในจังหวะย่อตัวและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 2,018 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของฝั่งยุโรป ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ และ ยูโรโซน โดย แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร จะชะลอตัวลงต่อเนื่องแตะระดับ 5.7% (ยูโรโซน) และ 6.0% (อังกฤษ) แต่ระดับดังกล่าวก็ยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารอังกฤษ (BOE) เป็นอย่างมาก ทำให้คงมองว่า ทั้ง ECB และ BOE ยังมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ต่ออีกราว 1-2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งนอกเหนือจากรายงานอัตราเงินเฟ้อดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB และ BOE เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสองธนาคารกลางหลักต่อไป

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

อ้างอิงข่าวเศรษฐกิจ



ผู้ตั้งกระทู้ asd :: วันที่ลงประกาศ 2023-04-20 21:07:02


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล