ReadyPlanet.com


ประวัติวัวสายพันธุ์ "บราห์มัน" คนอินเดียนับถือวัวว่าเป็นพระเจ้า เพราะคำว่า “บราห์


  ประวัติวัวสายพันธุ์ "บราห์มัน"

 

 

    

นอินเดียนับถือวัวว่าเป็นพระเจ้า เพราะคำว่า “บราห์มัน” มาจากคำว่า “พราหมณ์” ซึ่งวัวบราห์มันที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย ดั้งเดิมแล้ววัวพันธุ์นี้ได้รับการสร้างพันธุ์และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ในประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน โดยใช้ชื่อว่า “อเมริกันบราห์มัน” โดยนำวัวตระกูลซีบู (Bos indicus) จากประเทศอินเดียหลายสายพันธุ์เข้ามาผสมพันธุ์ปรับปรุงพันธุ์ เช่น กุซเซอราท (Guzerat) หรือวัวแคนเกรจ (Kankrej) เนลเลอร์ (Nellore) หรือวัวอองโกล (Ongole) กีร์ (Gir/Gyr) และ กฤษณะแวลเลย์ (Krishna Valley)

จนกระทั่งได้วัวพันธุ์อเมริกันบราห์มัน ที่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในสภาพแวดล้อมทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐ Texas, New Mexico, Oklahoma, Mississippi, Georgia, Arkansas, Louisiana และ Florida ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตกึ่งร้อน (Semi tropic) มีโรคและแมลงชุกชุม ปัจจุบันวัวบราห์มันได้กระจายไปทั่วภูมิภาคของโลก จัดเป็นพันธุ์วัวอเนกประสงค์ที่สามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงเป็นทั้งสายพันธุ์วัวเนื้อและวัวนม 

สำหรับในประเทศไทยได้นำเข้าวัวอเมริกันบราห์มันครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2497 และมีการนำเข้าอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา จนถึงขณะนี้วัวอเมริกันบราห์มันได้รับการเลี้ยงดูปรับปรุงพันธุ์ในสภาพแวดล้อมของประเทศไทยมายาวนานถึง 60 ปีแล้ว จึงน่าจะเรียกชื่อว่า “ไทยบราห์มัน” (Thai Brahman) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวัวบราห์มันได้มีการเลี้ยงดูในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่มีเอกสารเผยแพร่สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัวพันธุ์นี้ค่อนข้างน้อย บทความเรื่อง “วัวบราห์มันในประเทศไทย” นี้เขียนมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนตั้งแต่เริ่มรับราชการครั้งแรกที่กรมปศุสัตว์เมื่อปี พ.ศ. 2501 จนเกษียณราชการเมื่อปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน เพื่อมุ่งหวังให้เป็นองค์ความรู้ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัวบราห์มัน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงคาดหวังว่าเนื้อหานี้จะก่อประโยชน์ต่อวงการวัวเนื้อของไทยไม่มากก็น้อย

 


 

ความเป็นมาและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวัวบราห์มันในประเทศไทย

 

วัวที่เลี้ยงและใช้ประโยชน์กันมากในเชิงเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น มี 2 ตระกูล ที่เห็นได้ชัดเจนคือ พวก Bos taurus หรือ วัวฝรั่ง และพวก Bos indicus หรือวัวซีบู พวกอื่นๆ ก็เป็นเพียงส่วนน้อยจะไม่ขอกล่าวถึง คงทราบกันอยู่ดีแล้วว่า พวกวัวฝรั่ง หรือ Taurus นั้นเป็นวัวที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวและอบอุ่น พวกนี้ไม่มีหนอก ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป พวกวัวซีบู หรือ Indicus มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนแห้ง หรือร้อนชื้น เช่น ในอินเดีย ปากีสถาน เอเชียตะวันออก และเอเชียอาคเนย์

สำหรับรายละเอียด ลักษณะและคุณสมบัตินั้น แต่ละเผ่าพันธุ์ มีข้อดี ข้อเสีย ต่างกันออกไป มนุษย์เราได้แยกแยะเอาส่วนดีและส่วนด้อยมาใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัว

ที่ไปของวัวบราห์มันแต่แรกเริ่ม

สำหรับวัวซีบูแล้วที่มาของความสนใจและประทับใจของผู้คนออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน เช่น

  1. ในออสเตรเลีย เขาไปเห็นวัวซีบูครั้งแรกในสวนสัตว์ ที่นครเมลเบิร์น ซึ่งมีหนอกและหน้าตามันแปลก โดยซื้อเข้าไปในสวนสัตว์ให้คนชม
  2. ประเทศไทย อเมริกาเขาให้ความช่วยเหลือมาลองเลี้ยงดู เมื่อปี พ.ศ. 2497 เราก็ชอบ
  3. ส่วนในอเมริกานั้น ผู้คนมาสนใจมากก็ไปเห็นลูกวัวลูกผสมที่เกิดจากพ่อวัวซีบูกับแม่วัวชอร์ทฮอร์น ที่รัฐแคโรไลนา ประมาณปี พ.ศ. 2389 (ค.ศ. 1846) ขนมันสั้นเกรียน ตัวล่ำสัน แข็งแรง เป็นที่แตกตื่นของคนคอ (เลี้ยง) วัวกันมาก ความจริงก็ไม่ใช่อะไรหรอก คือมีคณะละครสัตว์เอาสัตว์ตัวผู้ไปแสดง บังเอิญว่ามีพ่อวัวซีบูติดไปแสดงกับเขาด้วย พอได้เวลาพัก เขาก็ปล่อยพ่อวัวออกไปกินหญ้ารอบๆ บริเวณโรงละครสัตว์ ก็บังเอิญอีกนั้นแหละ มีแม่วัวชอร์ทฮอร์นแถมกำลังเป็นสัดอยู่ด้วย เดินผ่านเข้ามาพอดี เจ้าพ่อวัวซีบู จึงทำหน้าที่ไป ไม่มีใครรู้ใครเห็นในขณะนั้น มารู้ก็ตัวเมียคลอดมาแล้ว ตัวลูกวัวเป็นหลักฐานพยานให้พิสูจน์ จึงสันนิษฐานว่าไม่ใช่ใครอื่น คือพ่อซีบูตัวนั้นล่ะเป็นพ่อของลูกวัวตัวนั้น

ทราบกันต่อๆ มา ผู้คนที่อยู่ในวงการเลี้ยงวัวจึงคิดถึงแต่วัวซีบูกันเรื่อยมา อีก 2-3 ปีต่อมา จึงมีการสั่งวัวจากอินเดีย เช่น กุซเซอราท แคงเกรจ (Kankrej) อองโกล (Ongole/Nellore) กีร์ (Gir/Gyr) และ กฤษณะแวลเล่ย์ (Krishna Valley) และพันธุ์อื่นๆ เข้าไปเลี้ยงกันมากทั้งในอเมริกาเหนือ และบราซิล

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นเจ้าของวัวอเมริกันบราห์มัน ขอสรุปความเป็นมาของวัวพันธุ์นี้โดยคร่าวๆ ดังนี้

 


– พ.ศ. 2392-2397 (ค.ศ. 1849-1854) Dr. James Bolton Davis of Fairfield County, รัฐ South Carolina ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเกษตรของสุลต่านชาวตุรกีท่านหนึ่งได้สั่งเอาพ่อวัวซีบูจากอินเดียเข้ามา จำนวนที่นำเข้าไม่ระบุ แต่คาดว่าราว 2-3 ตัว ปรากฏว่าคนนิยมเลี้ยงกัน แต่ก็มาจางหายไปอันเนื่องมาจากพิษภัยของสงครามกลางเมือง (เลิกทาส)

 

– พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษได้ส่งพ่อวัวซีบูจำนวนหนึ่งให้เป็นของขวัญแก่ Mr. Richard Barrow เพื่อตอบแทนบุญคุณที่ไปสอนวิธีการปลูกฝ้ายและอ้อยตามบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมของแม่น้ำหลายสายในอินเดีย ลูกหลานที่ได้จากวัวของขวัญนี้ เขาเรียกกันว่าวัว “Barrow Grade” ต่อมาคนรู้จักมากขึ้นและเลี้ยงกันแพร่หลายบริเวณรอบๆ อ่าวเม็กซิโก (TEX., LA. & FLA.) ถือว่าประสบผลสำเร็จ

– พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) J.M. Frost และ Albert Montgomery of Houston, Texas ก็สั่งพ่อวัวซีบูเข้ามาอีก 2 ตัว โดยเน้นใช้พ่อวัว 2 ตัวนี้ ผสมกับลูกหลานตัวเมียของพ่อพันธุ์ Barrow Grade ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทุกฝ่ายยอมรับและพึงพอใจในวัวที่เกิดใหม่นี้มาก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับกันในอเมริกาตอนใต้เลยทีเดียว

– ในช่วงดังกล่าวนี้ องค์กรละครสัตว์ก็สั่งพ่อวัวพวกนี้เพิ่มเติมเข้ามาอีก เกษตรกรบางรายก็ไปซื้อพ่อวัวจากองค์กรนี้มา

– ปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) Mr.  A.M. Mc Faddin เมือง Victoria, Texas ได้ส่งพ่อวัวแดงตัวหนึ่งชื่อ “Prince” เข้าประกวดในงาน Haggenbach Animal Show เจ้า Prince ตัวนี้มีชื่อเสียงโด่งดังมาก Haggenbach ยังขายพ่อวัวซีบูเหล่านี้ออกมาราว 12 ตัวด้วย ซึ่ง Dr. William States Jacobs แห่งเมือง Houston ซื้อไป

– พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) และ พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) Pierce Ranch of Pierce Estate, Texas โดย M.O’ Connor of Victoria Texas ก็สั่งพ่อวัวซีบูพันธุ์ต่างๆ เข้าไป 30 ตัว พร้อมกับตัวเมีย 3 ตัว โดย Able P. Borden ผู้จัดการของ Pierce Ranch เป็นผู้ไปคัดเลือก

– พ.ศ. 2466-2467 (ค.ศ. 1923-1924) ได้มีการสั่งพ่อวัว Guzerat, Gir และ Ongole เข้ามาจาก Brazil

– พ.ศ. 2468 (ค.ศ. 1925) ก็สั่งพ่อวัวแบบเดียวกันจากบราซิลเข้ามาอีก 120 ตัว กับตัวเมีย 18 ตัว

– พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) สั่งซื้อพ่อวัวทำนองเดียวกันนี้จากบราซิลไปที่ Texas จำนวน 18 ตัว (ผ่านมาทางเม็กซิโกเช่นกัน)

 


– ในช่วงแห่งความนิยมวัวซีบูนี้ มีผู้ผสมพันธุ์ (Breeders) หลายรายก็เริ่มค้นคว้าผสมพันธุ์คัดเลือกพันธุ์วัวซีบู ซึ่งมีแคงเกรจ อองโกล กีร์ และกฤษณะเวลเล่ย์ เป็นหลัก เช่น Robort Kleblerg จาก King Ranch, J.D. Hudgin จาก Hungerford ฯลฯ

 

– พ.ศ. 2453-2463 (ค.ศ. 1910-1920) ได้มีการใช้พ่อวัวซีบูหลายๆ แหล่งมาผสมและคัดเลือกพันธุ์ เน้นลักษณะของซีบูเป็นสำคัญกับแม่วัวพันธุ์ต่างๆ ที่เลี้ยงอยู่รอบๆ อ่าวเม็กซิโก ทำกันมาอย่างน้อย 5 ชั่ว (generation), (31/32) เน้นไปที่ลักษณะของความเป็นซีบู และมีเนื้อมากด้วย

– พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) เกษตรกรที่เลี้ยงวัวซีบูทั้งหมด ได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคม เพื่อปรับปรุงวัวซีบูของตนขึ้นมาโดยเฉพาะ เรียกว่า  American Brahman Breeders Association มี J.W. Sartwell เมือง Houston Texas เป็นเลขาคนแรกของสมาคม ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์คัดเลือกพันธุ์ต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) นับเป็นเวลาถึง 92 ปี และยังคงปรับปรุงพันธุ์สนับสนุนแพร่กระจายวัวพันธุ์นี้ออกไปทั่วโลก จนมีผู้เลี้ยงทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 71 ประเทศ เขาสรุปได้ความว่า เขาใช้นิวเคลียสของวัวบราห์มันมาจากตัวเมีย 22 ตัว และของตัวผู้ทั้งหมด 266 ตัว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วัวพันธุ์สวยงาม
 
 










ผู้ตั้งกระทู้ วัวเงินล้าน :: วันที่ลงประกาศ 2022-10-19 11:51:36


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (4342552)

 

7 คุณประโยชน์ของเนยถั่วที่ดี

ผู้แสดงความคิดเห็น มารร้าย วันที่ตอบ 2022-11-12 16:20:46



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล