ReadyPlanet.com


ค่าเงินบาทวันนี้ 18/1/66 เปิดที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น


 ค่าเงินบาทวันนี้ 18/1/66 เปิดที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้่ แข็งค่าขึ้น 33 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดอยู่ที่ระดับ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย ระบุ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าเงินบาทจะเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นบ้าง จากระดับปิดในวันก่อนหน้า ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อย่างไรก็ดี ในวันนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น โดยต้องระวัง ความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมของ BOJ ซึ่งอาจส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่นแกว่งตัวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าได้มาก ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ BOJ โดยประเมินว่า หาก BOJ ได้พูดถึงการทบทวนกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี หรือ ทบทวนผลกระทบของนโยบาย Yields Curve Control รวมถึงมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น จนทำให้เงินเยนแข็งค่าเร็วสู่ระดับ 126 เยนต่อดอลลาร์ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง พร้อมกับหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ในทางกลับกัน การอ่อนค่าของเงินเยนสู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ (สถิติย้อนหลัง 10 ปี ชี้ว่า เงินบาทมักอ่อนไหว หรือมี Beta ที่สูง กับการอ่อนค่าของเงินเยนญี่ปุ่น มากกว่าในช่วงเงินเยนแข็งค่าขึ้น) มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-33.20 บาทต่อดอลลาร์

บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวลง -1.14% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.20% หลังรายงานผลประกอบการของสถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่าง Goldman Sachs ออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา โดยหากผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็อาจกดดันให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดการถือครองหุ้นที่ผลประกอบการและแนวโน้มผลประกอบการแย่ลง กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจย่อตัวลงได้ หลังจากปรับตัวขึ้นได้ดีนับตั้งแต่ต้นปีนี้

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ยังคงเดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.40% ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้ารายสำคัญของยุโรป อย่าง จีน โดยล่าสุดรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนธันวาคม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ได้ออกมาดีกว่าคาดไปมาก สะท้อนว่าจุดเลวร้ายสุดของเศรษฐกิจจีนในช่วงการระบาดของโอมิครอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งภาพดังกล่าวได้หนุนให้ ราคาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่พึ่งพายอดขายจากในจีนต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Diageo +2.4%, Hermes +1.8% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor +1.8%, BP +0.8%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันที่ตอบรับต่อความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงและแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.3 จุด หลังค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 128.5 เยนต่อดอลลาร์ จากที่ก่อนหน้าอ่อนค่าไปเกือบแตะระดับ 129 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพุธนี้ ทาง BOJ อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะให้เงินเยนอ่อนค่าลง เพื่อเพิ่มสถานะ Short USDJPY (มองเงินเยนแข็งค่าขึ้น) อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงบ้าง รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) กลับยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,910-1,915 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินผลการประชุมของ BOJ ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งเงินดอลลาร์ รวมถึง บอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ได้ ซึ่งประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจขายทำกำไรทองคำก่อนรับรู้ผลการประชุม BOJ ได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาไฮไลท์สำคัญ อย่าง การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะรับรู้ผลการประชุมราว 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย (ส่วนการแถลงต่อสื่อมวลชน โดยผู้ว่า BOJ อาจมีในช่วงบ่ายโมง) เบื้องต้นผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังการทยอยส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด/ตึงตัวมากขึ้น ทั้งนี้ มองว่า BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งคงเป้าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ที่ระดับ 0.00%+/-0.50% ตามเดิม แต่หาก BOJ มีการพูดถึงการทบทวนกรอบของบอนด์ยีลด์ 10 ปี หรือ ทบทวนผลกระทบของนโยบาย Yields Curve Control รวมถึงมีการปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้เล่นในตลาดอาจตีความว่า BOJ ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อาจแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับถัดไปแถว 126 เยนต่อดอลลาร์ได้ ในทางกลับกัน หาก BOJ ย้ำจุดยืนไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ก็อาจเห็นเงินเยนญี่ปุ่นผันผวนอ่อนค่าสู่ระดับ 130.5 เยนต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน

 

นอกเหนือจากผลการประชุมของ BOJ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอย่างยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจกดดันยอดค้าปลีก (Retail Sales) โดยเฉพาะในส่วนของยอดขายยานยนต์ หรือสินค้าคงทน อย่าง เฟอนิเจอร์ รวมถึง การปรับตัวลงของราคาพลังงานที่อาจกดดันยอดขายที่เกี่ยวกับพลังงานเช่นกัน จะทำให้โดยรวม ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนธันวาคม อาจหดตัว -0.9% จากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มมีมุมมองสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราลดลงเป็น +0.25% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้เช่นกัน

 อ้างอิง ข่าวเศรฐกิจ



ผู้ตั้งกระทู้ PEE CLOCK :: วันที่ลงประกาศ 2023-01-18 14:57:18


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล