ReadyPlanet.com


“โรคไต” อาการเริ่มต้น และระยะสุดท้ายที่สังเกตได้


 “โรคไต” อาการเริ่มต้น และระยะสุดท้ายที่สังเกตได้

โรคไต ถือเป็นภัยเงียบที่มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจุบันกลับพบว่าพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการกินเค็มจัด มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการป่วยเป็นโรคไต

แพทย์หญิงวันทนา ไทรงาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตูล กล่าวว่า ในปัจจุบันโรคไตเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพและอัตราการสูญเสียชีวิตที่สูง 

สาเหตุของโรคไต

ส่วนใหญ่โรคไตมีสาเหตุจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องของการรับประทานยา การรับประทานอาหารซึ่งโรคไตในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจากทีมสุขภาพได้ทันท่วงที ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องได้รับความรู้ เกิดการตระหนักสู่การปรับใจและปรับตัว เพื่อชะลอการเสื่อมของไตและนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี

ระยะความรุนแรงของโรคไต

สำหรับโรคไตแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ตามค่าการทำงานของไตหรือ GFR (Glomerular Filtration Rate) ซึ่งระยะที่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดคือระยะที่ 4 คือไตเสื่อมมากทำงานได้เหลือน้อยกว่า 35% และระยะ 5 คือไตวายระยะเรื้อรังทำงานได้น้อยกว่า 15% 

อาการของโรคไต

ในส่วนของอาการของโรคไตที่พบบ่อยคือระยะแรก ผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการ แต่ทราบว่าเป็นโรคไต จากผลตรวจเลือดหรือผลตรวจปัสสาวะผิดปกติ นอกจากนี้จะสังเกตเห็นอาการอื่นๆ เช่น

  • หนังตาบวม 
  • บวมตามตัว 
  • ปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูง 
  • มีปัสสาวะเป็นฟอง
  • ปัสสาวะมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน

ข้อมูลจากศูนย์โรคไต โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุว่า ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะมีอาการดังต่อไปนี้

 

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ซีด คัน บวมตามร่างกาย
  • อึดอัด หอบ เหนื่อย
  • นอนราบไม่ได้ เนื่องจากร่างกายมีของเสียคั่งค้าง
  • เกิดการเสียสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรดด่าง และฮอร์โมนของร่างกาย

การรักษาโรคไต

การรักษาโรคไต จะเป็นการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและยืดชีวิตให้ยาวนานขึ้น โดยมี 3 วิธี คือ

  • การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis)

เป็นการนำของเสียและน้ำออกจากเลือด โดยเลือดจะออกจากตัวผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำแล้วผ่านตัวกรองเพื่อกำจัดของเสีย ปรับสมดุลเกลือแร่และกรดด่างเพื่อให้กลายเป็นเลือดดีก่อนที่เครื่องไตเทียมจะนำเลือดนั้นกลับสู่ร่างกาย

  • การล้างไตทางผนังช่องท้อง (peritoneal dialysis)

เป็นการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้องผ่านทางสายที่ฝังไว้ในช่องท้องผู้ป่วยเพื่อกรองของเสียในร่างกายออก

  • การผ่าตัดปลูกถ่ายไต (kidney transplantation)

เป็นการผ่าตัดเอาไตของผู้อื่นมาใส่ไว้ในร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนไตเดิมที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว โดยไตใหม่นั้นอาจได้จากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living donor) หรือจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต (deceased donor) ผ่านการรับบริจาคโดยศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย

วิธีลดความเสี่ยงโรคไต

  1. รักษาร่างกายให้แข็งแรง และรักษาระดับความดันโลหิต และน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  2. ลดการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะ เค็มจัด หวานจัด และเผ็ดจัด
  3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  4. ควบคุมยาที่มีผลกับไต เลี่ยงการกินยาที่เราไม่ทราบสรรพคุณหรือว่ากินยาที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะพวกยาแก้ปวด หรือ ยาสมุนไพรเป็นระยะเวลานาน
  5. หากทราบว่าตนเองมีความเสี่ยงแล้ว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษา

อ้างอิง ข่าวสารสุขภาพ



ผู้ตั้งกระทู้ FF--11 :: วันที่ลงประกาศ 2023-02-17 09:06:44


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล